การพิมพ์ก่อนยุคประวัติศาสตร์
การพิมพ์ของโลกนั้น เริ่มตั้งแต่ ภาพพิมพ์ โดยเริ่มมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ เมื่อ 200,000ปีก่อนคริสตกาล จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เมื่อมนุษย์โครมันยองได้พบภาพพิมพ์รูปมือบนผนังในถ้ำลาสคัวกซ์ (Lascaux) ที่ประเทศฝรั่งเศส และ บนผนังถ้ำอัลตามิรา (Altamira) ประเทศสเปน นอกจากการปรากฏผลงานด้านจิตรกรรมที่มีคุณค่าด้านความงามของมนุษยชาติ ในช่วงประมาณ 17,000 – 12,000 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังมีการปรากฏของผลงานแกะสลักหิน แกะสลักผนังถ้ำเป็นรูปสัตว์ลายเส้น ซึ่งการแกะสลักภาพลายเส้นบนผนังถ้ำเช่นนี้นั้น อาจนับได้ว่าเป็นหลักฐานที่สำคัญในการแกะแบบภาพพิมพ์ของมนุษย์ในยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรกก็ได้ และนอกเหนือจากนั้น ยังมีการปรากฏการเริ่มต้นพิมพ์ภาพผ่านฉากพิมพ์ (Stensil) อีกด้วย โดยวิธีการคือการใช้มือวางทาบลงบนผนังถ้ำ แล้วพ่นหรือเป่าสีลงบนฝ่ามือ ซึ่งจะก่อให้เกิดเป็นภาพขึ้นมาและวิธีนี้ยังนับได้ว่าเป็นวิธีการพิมพ์แบบง่ายอีกหนึ่งวิธีอีกด้วย
การพิมพ์ในช่วงประวัติศาสตร์ยุคแรก
ในสมัยอารยธรรมประวัติศาสตร์ยุคแรก ๆ กลุ่มเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) ได้เรียนรู้การนำของแข็งกดลงบนดินทำให้เกิดเป็นลวดลายตัวอักษร เรียกว่า อักษรลิ่ม (Cuneiform) โดยมีอายุประมาณ 5,000 ปีก่อนคริสตกาล (5,000 B.C.)
ต่อมาประมาณ 255 ปีก่อนคริสตกาล ในแถบภูมิภาคเอเชียตอนกลางและจีน ได้รู้จักการแกะสลักดวงตราบนแผ่นหิน กระดูกสัตว์และงาช้าง เพื่อใช้ประทับลงบนดินเหนียวหรือบนขี้ผึ้งซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เป็นต้นตอของแม่พิมพ์ Letter Press ซึ่งจะเห็นได้จากในพงศาวดารจีนโบราณที่องค์จักรพรรดิจะมีตราหยกเป็นตราประจำแผ่นดิน
หลังจากที่มนุษย์เริ่มมีการคิดริเริ่มทำแม่พิมพ์แบบ Letter Press ในเมื่อประมาณ 255 ปี ก่อนคริสต์กาล
ต่อมาในปี ค.ศ.105 ชาวจีนชื่อ ไซลั่น ได้คิดค้นวิธีทำกระดาษขึ้น และได้กลายเป็นวัสดุที่สำคัญในการเขียนและการพิมพ์ในยุคต่อมา ในปี ค.ศ.175 เทคนิคพิมพ์ถู (Rubbing)ได้เกิดขึ้นใน ประเทศจีน โดยมีการแกะสลักวิชาความรู้ไว้บนแผ่นหิน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้นำกระดาษมาวางทาบบนแผ่นหินแล้วใช้ถ่านหรือสีทาลงบนกระดาษ สีก็ติดบนกระดาษส่วนที่หินนูนขึ้นมา เทคนิคนี้ดูจะเหมือนกับการถู ลอกภาพรามเกียรติ์ที่แกะสลักบนแผ่นหินอ่อนที่วัดโพธิ์ในทุกวันนี้
และในปี ค.ศ.400 ชาวจีนรู้จักการทำหมึกแท่งขึ้น โดยใช้เขม่าไฟเป็นเนื้อสี (Pigment) ผสมกาวเคี่ยวจากกระดูกสัตว์ หนังสัตว์และเขาสัตว์เป็นตัวยึด (Binder) หลังจากนั้นทำให้แข็งเป็นแท่ง ซึ่งชาวจีนเรียกว่า “บั๊ก” ต่อมาราวๆปี ค.ศ.450 การพิมพ์ด้วยหมึกบนกระดาษจึงเกิดขึ้นโดยใช้ตราจิ้มหมึกแล้วตีลงบนกระดาษเช่นเดียวกับการประทับตรายางในปัจจุบัน
ในปัจจุบัน งานพิมพ์ที่เก่าแก่ที่สุดและยังคงหลงเหลืออยู่ คือ การพิมพ์คำสวดของจักรพรรดินีโชโตกุแห่งประเทศญี่ปุ่น
เมื่อราวๆปี ค.ศ.770 จักรพรรดินีโชโตกุได้รับสั่งให้จัดพิมพ์คำสวดนี้ขึ้นเพื่อปัดรังควาน ขับไล่วิญญาณหรือผีร้ายให้พ้นจากประเทศญี่ปุ่น และคำสวดได้ถูกแจกจ่ายไปตามวัดทั่วทั้งอาณาจักรญี่ปุ่นสมัยนั้น โดยมีจำนวนหนึ่งล้านแผ่นและต้องใช้เวลาตีพิมพ์เป็นเวลา 6 ปี
ชาวจีนนิยมใช้เทคนิคการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์แกะไม้ และพัฒนาขึ้นตามลำดับ การพิมพ์เป็นหนังสือพิมพ์เล่มแรกเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.868 โดย วาง เซียะ (Wang Chieh) ซึ่งมีลักษณะเป็นม้วน มีความยาว 17.5 ฟุต กว้าง 10.5 นิ้ว และในปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ยังคงตกทอดลงมารุ่นสู่รุ่น โดยมีชื่อว่า วัชรสูตร (Diamond Sutra)
เมื่อประมาณปี ค.ศ.1041 – 1049 การพิมพ์แบบใหม่ที่ได้เข้ามาแทนที่วิธีการพิมพ์แบบเดิมที่ใช้การแกะไม้เป็นแม่พิมพ์ คือ การพิมพ์แบบแม่พิมพ์นูน (เรียกว่า Block โดยแม่พิมพ์ดังกล่าวสามารถพิมพ์ได้เพียงรูปแบบเดียว มาเป็นการใช้แม่พิมพ์ชนิดที่หล่อขึ้นเป็นตัว ๆ และนำมาเรียงให้เป็นคำเป็นประโยค ซึ่งในปัจจุบันเรียกว่า “ตัวเรียงพิมพ์ (Movable type) เมื่อพิมพ์เสร็จแล้ว จะสามารถนำกลับไปเก็บและสามารถนำมาผสมคำใหม่ในการพิมพ์ครั้งต่อ ๆ ไปได้ ผู้ที่ค้นพบวิธีการใหม่นี้เป็นชาวจีนชื่อ ไปเช็ง (Pi Sheng) โดยใช้ดินเหนียวปั้นให้แห้งแล้วนำไปเผาไฟ
การสร้างตัวเรียงพิมพ์โลหะ เริ่มมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศเกาหลีเมื่อประมาณปี ค.ศ.1241 ได้มีการหล่อตัวพิมพ์โลหะขึ้นเป็นจำนวนมากตามดำริของกษัตริย์ไทจง (Htai Tjong)